เมื่องานและจิตใจกำลังพังทลาย ทำอย่างไรให้เรารอดจากสิ่งเหล่านั้น

14 September 2021

สวัสดีผู้อ่านทุกคนนะครับ ในขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้อยู่ สถานการณ์โควิดก็ยังคงหนักหนาสาหัสเพิ่มขึ้นทุกวัน แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบทั้งทางจิตใจและความมั่นคงในหน้าที่การงานของเราไปด้วย และคงมีหลายคนตั้งคำถามมาหลายครั้งแล้วว่า ครั้งต่อไปจะถึงตาเราไหม เราจะรอดไหม ไม่มีอะไรแน่นอนเอาเสียเลย

ดังนั้น เราคงต้องยอมรับว่าเราควบคุมเหตุการณ์นี้ไม่ได้ แต่เราสามารถเตรียมความพร้อมกับความไม่แน่นอนไว้ได้บ้าง โดยเฉพาะในเรื่องของ Self-Initiation  หรือการเป็นผู้ที่สามารถริเริ่มและดูแลงานของตัวเองได้ ที่กำลังเป็นทักษะที่สำคัญของคนทำงานอย่างจำเป็นแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ในช่วงเวลานี้

เหตุผลเพราะคนทำงานมักเจอปัญหารุมเร้าต่างๆ นาๆ ทั้งเรื่องผลงาน ความคาดหวัง จนนำมาสู่ภาวะหมดใจและถอดถอยในการทำงานเป็นระยะๆ รวมทั้งความเครียดกับสถานการณ์โควิดที่เข้ามาเป็นอัตราเร่งอีกส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน

ทักษะการฟื้นฟูในแง่ของการเยียวยาความรู้สึกและความรับผิดชอบต่อตัวเองและงานที่ทำจึงสำคัญในการที่จะดึงให้ตัวเราเองนั้นสามารถลุกขึ้นมาจากภาวะเหล่านั้นด้วยการริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ไปพร้อมกับความรับผิดชอบควบคู่กันไป ซึ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้นำและองค์กรกำลังมองหาคนทำงานที่มีทักษะเหล่านี้เพิ่มเติม

คำถามคือ เราสามารถเพิ่มทักษะ Self-Initiation ขึ้นมาได้อย่างไรท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยเอาเสียเลย ผมเลยมีข้อคิดที่น่าสนใจ จาก Dr. Colleen Batchelder เป็นทั้งที่ปรึกษาและนักกลยุทธ์ด้านความเป็นผู้นำและการทำงาน รวมทั้งยังเป็นคอลัมนิสต์จาก Entrepreneur.com มาแนะนำให้คนทำงานทุกคนได้มีทางออกจากภาวะย่ำแย่ในเวลานี้ด้วยการริเริ่มอะไรใหม่ ๆ ด้วยตัวเองกันครับ

1.  กำหนดระยะทางและลู่วิ่งของเรา

ข้อแรกจะเหมือนหลักคิดทั่ว ๆ ไปคือการกำหนดเป้าหมาย แต่การเปรียบเทียบเป้าหมายให้เหมือนการลงวิ่งแข่งนั้น เป็นการบอกและให้เราตระหนัก เพื่อเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าว่าต้องเหนื่อยอย่างแน่นอนกับการจะต้องริเริ่มและรับผิดชอบอะไรบางอย่าง ดังนั้น การโฟกัสกับระยะทางที่เราต้องออกแรงวิ่งเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ต้องมีการประเมินและโฟกัสลู่ที่เราจะออกวิ่งเป็นพิเศษนั่นเอง

2. แหกคอกเอาเสียบ้าง

Dr. Colleen Batchelder ชี้ให้เห็นว่าการจะมีทักษะที่ริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ได้นั้น เราจำเป็นต้องละทิ้งกรอบความคิดหรือพิธีกรรมอะไรเดิม ๆ ที่เราเคยทำมา เพื่อเปิดโอกาสให้เราไม่ติดกับวิธีคิดเดิม ๆ ที่จะนำมาสู่การตั้งต้นและลงเอยกับผลลัพธ์เดิม ๆ นั่นเอง ทางที่ดีคือการลองคิดสวนทางหรือนำพาตัวเองออกจากกล่องใบเก่าๆ ที่เคยใช้ออกไปบ้าง ไม่เช่นนั้นทักษะ Self-Initiation ก็จะอยู่ในกล่องกับพิธีกรรมเดิม ๆ ในชีวิตเรานั่นแหละ

3. ถ้าเราเป็นเจ้าของธุรกิจเราจะคิดแบบไหน

ลองสมมติฐานว่าถ้าเราเป็นเจ้าของธุรกิจหรือเจ้าของบริษัท เราจะมีการริเริ่มในการทำงานสิ่งใหม่ หรือตีโจทย์การทำงานที่ได้รับมาให้แตกต่างจากเดิมและมีประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนได้อย่างไร แน่นอนว่าวิธีนี้อาจต้องเอาวิธีที่สองเข้ามาเป็นส่วนผสมด้วยเพื่อไม่ให้เกิดการติดเงื่อนไขหรือกรอบความคิดเดิม ๆ เพิ่มเติมคือการซักซ้อมไปในตัวด้วยว่า เรามีทักษะในเรื่องของการบริหารจัดการและการเป็นผู้นำมาผสมกับการริเริ่มอะไรใหม่ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน

4. ต้องยอมรับตัวเอง

แม้ว่าข้อแนะนำทั้งหลายที่ Dr. Colleen Batchelder แนะนำมานั้นจะฟังดูดีมีหลักการ แต่สิ่งสำคัญที่เธอตอกย้ำซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งสำคัญ คือการเช็คศักยภาพของตัวเองอยู่เสมอว่าเรามีอะไร ขาดอะไร และทำได้แค่ไหน ก็จงยอมรับไปซะเถอะ เพราะการยอมรับก็เป็นจุดสำคัญต่อการริเริ่มในการพัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้นในจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งหลักสำคัญของ Self-Initiation   นั่นเอง

แท้จริงแล้วหลักคิดและแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาเรื่อง Self-Initiation ยังมีอีกมากมาย แต่นี่เป็นเพียงหลักคิดที่ผมมองว่าสำคัญและเหมาะสมกับองค์กร ผู้นำ และคนทำงานที่กำลังต้องการมาต่อเติม ซ่อมแซม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีในแบบที่เรายังพอออกแบบและควบคุมได้

สุดท้ายแล้วขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ คนผ่านพ้นกับวิกฤตรอบนี้ไปด้วยกันนะครับ

อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4

SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19

APPLE : https://apple.co/2TXdzUr

SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC

YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT

PODBEAN : https://office04th.podbean.com/

อ้างอิง:

https://www.lifehack.org/900260/take-initiative

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *