ครั้งหนึ่งผมเคยวูบล้มในห้องน้ำ โชคดีที่อุบัติเหตุครั้งนั้นไม่ได้ส่งผลอะไรมาก แต่มันก็รุนแรงต่อความรู้สึกเป็นอย่างมาก เพราะหากครั้งนั้นผมดันโชคร้ายไม่ได้ตื่นขึ้นมาในสภาพที่ปรกติ ก็คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้า
และเมื่อได้โอกาสอีกครั้ง ผมเลยตั้งใจว่าจะต้องดูแลเรื่องของสุขภาพควบคู่ไปกับการทำงานใหม่อีกครั้งให้ดีกว่าเดิม
เมื่อปรับเปลี่ยนสุขภาพให้ดีขึ้น ก็มีแต่ได้กับได้ เพราะเมื่อเราสุขภาพดี การทำงานก็มีแนวโน้มที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลต่อบริษัท และการส่งต่องานดี ๆ ให้ลูกค้าไปด้วย
ดังนั้น การบริหารการหยุดพัก จึงเป็นทั้งทักษะและศิลปะของชีวิตที่เราไม่ควรละเลย รวมถึงตัวบริษัทเองที่ควรคำนึงถึงเรื่องสุขภาวะของพนักงานเป็นอันดับต้น ๆ เพราะนี่คือต้นทุนที่ดีที่บริษัทควรใส่ใจลงทุนเป็นอย่างมากในยุคนี้ โดยเฉพาะความเหนื่อยล้าด้านจิตใจ
“จิตใจคือกล้ามเนื้อมัดหนึ่ง”
นั่นคือ นิยามเรื่องจิตใจของ ดร. รอยเบาไมส์เตอร์ นักจิตวิทยาสังคม ได้ทดลองเรื่องความล้าของสมองหลังการทำงานหนัก จากความตึงเครียดในการทำงาน ด้วยการใช้คุกกี้กับหัวไชเท้ากับผู้เข้าร่วมทดลอง 67 คน โดยจำนวนคนครึ่งหนึ่งได้รับอนุญาตให้กินคุกกี้ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งถูกห้ามกิน ต้องสามารถกินหัวไชเท้าแทนได้
รอย เบาไมส์เตอร์ อธิบายปฏิกิริยาที่แตกต่างของคนทั้งสองกลุ่มจากอาหารที่ได้รับไม่เหมือนกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะกลุ่มหัวไชเท้าที่มีอารมณ์ไม่มีความสุขเท่ากลุ่มกินคุกกี้
และผลลัพธ์มันยิ่งแตกต่างเข้าไปอีกตรงที่ รอย เบาไมส์เตอร์ ได้โยนโจทย์ทดลองให้กลุ่มคุกกี้และกลุ่มหัวไชเท้าได้คิดหาคำตอบ ผลปรากฏว่า กลุ่มคนที่กินคุกกี้สามารถทนแก้โจทย์ได้นานกว่ากลุ่มหัวไชเท้า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
รอย เบาไมส์เตอร์ อธิบายว่า กลุ่มหัวไชเท้าใช้กล้ามเนื้อจิตใจจนล้าไปหมด จากการที่ต้องอดทนอดกลั้นต่อการไม่กินคุกกี้ส่วนกลุ่มที่กินคุกกี้นอกจากอร่อยแล้วก็มีพลังใจมากกว่า กลุ่มคุกกี้เลยมีความพยายามในการแก้โจทย์มากกว่า ซึ่งการทดลองรูปแบบนนี้ ได้มีการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผลลัพธ์ก็ออกมาเหมือนเดิม นั่นทำให้ เบาไมส์เตอร์เห็นพ้องว่าพลังใจ หรือ จิตใจที่ถูกเติมเต็มด้วยความสุขอะไรบางอย่าง ส่งผลต่อความพยายามและประสิทธิภาพของงานเหมือนกัน ซึ่งคุกกี้ที่ทดลองก็เหมือนการหยุดพัก ที่จะมีประโยชน์ในระยะยาวต่อคนทำงานนั่นเอง
สุดท้าย รอย เบาไมส์เตอร์ได้แนะนำ 3 วิธีสำหรับการบริหารจิตใจและความตึงเครียดไว้ว่า
– จำไว้ว่า “ความเครียดก็คือความเครียด” เมื่อเราเหนื่อยล้าจากงานหนึ่ง มันจะส่งผลต่องานถัดไป แม้ว่างานทั้งสองชิ้นนั้นจะไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย
– เราควรสู้กับความท้าทายทีละไม่กี่อย่าง ไม่เช่นนั้นเราจะหมดพลัง
– สภาพแวดล้อมส่งผลต่อพฤติกรรมของเรามาก ดังนั้น จงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อชีวิตและการทำงาน
และที่สำคัญบริษัทคือสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อเราเช่นกัน
อ้างอิง: หนังสือ Peak Performance

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน