เราจะผ่านวิกฤตในวัย 30 ไปสู่วัย 40 ได้อย่างไร

26 January 2020

“ชีวิตก็เหมือนกับภาพยนตร์…มีจุดเริ่มต้น ปมปัญหา ถูกคลี่คลาย และก็จบ…”

นี่คือประโยคที่ผมชอบบอกกับตัวเองทุกครั้ง ในยามที่กำลังเผชิญต่อสถานการณ์บางอย่างที่ไม่ค่อยดีนัก

ผมเคยวาดฝันไว้ว่าก่อนอายุ 30 ปี ชีวิตคงอยู่ในการทำงานที่ปลอดภัยพร้อมกับหน้าที่การงานที่ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นความฝันที่มีความหวานอันน่าชวนยิ้มรับความสำเร็จไหมละครับ และในที่สุดความฝันของผมก็เป็นจริง

“ถ้ามีที่ที่ดีกว่า…ก็ไปได้นะอย่ายึดติดกับที่นี่นัก”  

หัวหน้าพูดกับผมอย่างเปิดใจขณะที่เรานั่งกินอาหารกัน นี่คือความจริงที่ทำให้ผมตื่นจากความฝัน ด้วยสภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขัน และประเภทธุรกิจที่บริษัทดำเนินการอยู่นั้นเริ่มมีอาการอ่อนแอลงเรื่อยๆ พนักงานหลายคนรู้อยู่แก่ใจว่าไม่ช้าก็เร็วพวกเขาอาจต้องมองหาเรือลำใหม่ เพื่อออกเดินทางต่อไป แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถหาเรือลำใหม่ได้ทุกครั้ง โดยเฉพาะคนทำงานที่อายุเริ่มเยอะก็ย่อมเป็นเรื่องที่น่าลำบากใจแทนไม่แพ้กัน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผมนึกถึงกระทู้หนึ่งที่เขียนอธิบายเกี่ยวกับเรื่อง ‘วิกฤตวัยกลางคน’ (Mid Life Crisis) ได้อย่างน่าสนใจ วิกฤตวัยกลางคน คือ บุคคลที่มีช่วงอายุระหว่าง 35-50 ปี เกิดคิดทบทวน และประเมินชีวิตตัวเองอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นด้านการงาน ชีวิตคู่ และความสุขในชีวิต หรือเรื่องอื่นๆ ซึ่งการคิดทบทวนนี้มักถูกกระตุ้นมาจากการตระหนักว่า ชีวิตนี้เหลือเวลาอีกไม่มาก เราควรจะประสบความสำเร็จ หรือมีความสุขได้แล้วหรือยัง

จากแหล่งข้อมูลได้อธิบายว่า วิกฤตวัยกลางคนสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น สุขภาพที่ถดถอย ฮอร์โมนเปลี่ยน คนสำคัญในชีวิตล้มหายตายจาก และการต้องการความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นต้น

ตอนอ่านกระทู้นี้จบลงพร้อมกับสภาวะที่เป็นอยู่ ในเชิงคำนิยามของวิกฤตวัยกลางคนที่ระบุช่วงอายุตั้งแต่ 35 – 50 ปี ผมพบว่ามันสามารถถูกย่อลงมาอยู่ในวัย 20 ปลายได้เหมือนกัน เพราะว่าการต้องการความสำเร็จในยุคนี้มีความผกผันมากกว่ายุคก่อน

ดังนั้น การให้คำนิยามเพื่อกำหนดความหมายของวิกฤตวัยกลางคนตามกระทู้ อาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่นั้น ถามว่าทำไมนะหรือ เพราะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มเข้าพื้นที่แห่งความวิกฤตเข้าแล้ว ความรู้สึกต่อชีวิตที่ไม่เป็นอย่างที่หวัง ความสำเร็จที่ยังไม่เข้าเป้า หน้าที่การงานที่ยังไม่นิ่งพอให้เรารู้สึกสบายใจ จนต้องเริ่มมองหาเรือลำใหม่เพื่อเอาชีวิตรอด

การหาเรือลำใหม่กับวัยที่เริ่มย่างเข้าปีที่ 30 ย่อมต้องเลือกที่จะทิ้งภาระบางสิ่งบางอย่างออกไป เพื่อให้ความคิด และจิตใจเบาขึ้น ที่สำคัญการขึ้นเรือลำใหม่ อาจไม่สามารถนำวิธีการเดินเรือลำเก่ามาใช้ได้ เรียกได้ว่าเราอาจต้องทิ้งสิ่งเคยผ่านมา และเริ่มเรียนรู้สภาพแวดล้อมใหม่ๆ ในวันข้างหน้า

โยชิโนริ ชิมัทสึ ประธานสมาคมศาสตร์แห่งผู้นำญี่ปุ่น ได้ตั้งคำถามไว้ว่า เคยคิดไหมว่าจะทำงานอย่างไรตอนอายุ 40 ซึ่งหากมองย้อนกลับไปดูช่วงอายุของวิกฤตวัยกลางคนก็เข้าข่ายเกี่ยวข้องกันพอดิบพอดี โดยคำสำคัญของโยชิโนริที่แนะนำไว้คือคำว่า ‘ทิ้ง’

ความหมายของคำว่า ‘ทิ้ง’ ไม่ใช่ การหนีจากสิ่งที่ไม่ชอบ แล้วก็ไม่ใช่การเหลือแต่สิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราอยากทำ แต่หมายถึง การลดสิ่งที่ไม่ได้นำพาเราไปสู่เป้าหมายในชีวิตหรือผลสำเร็จของงานต่างหาก

โยชิโนริแจกแจงสิ่งที่เราได้รับมาจากช่วงวัย 20 – 30 ปี ไม่ว่าจะเป็น ผลสำเร็จของงานที่สั่งสมมา ทักษะการทำงาน ตำแหน่งหน้าที่การงาน นิสัย ความภูมิใจ ลูกน้อง และคอนเนกชั่น

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจคิดว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะก้าวขึ้นไปประสบความสำเร็จทั้งนั้นเลยนี่ แต่โยชิโนริกลับมองว่าสิ่งเหล่านี้คือตะกอนที่ทับถมชีวิตเรามาเรื่อยๆ หากเราไม่หัดช้อนตะกอนเหล่านี้ออกไปจากชีวิตเสียบ้าง เมื่อถึงวัยที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ตะกอนที่เราภาคภูมิใจอาจนำความลำบากมาสู่ชีวิตได้ เพราะเกมการทำงานได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยผนวกับอายุที่เพิ่มขึ้น

โยชิโนริอธิบายเพิ่มว่า พออายุ 40 ปี เราควรเปลี่ยนวิธีการเล่นของตัวเอง ด้วยการทบทวนวิธีการที่เคยปราบคู่แข่งจากการใช้พละกำลังมาเป็นเชิงเทคนิคด้วยวิธีคิดที่แยบยลมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเพิ่มทักษะรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

“งูที่ลอกคราบไม่ได้จะสูญพันธ์”

โยชิโนริยกคำของฟรีดริช นีทเชอ นักปรัชญาชาวเยอรมันมาอธิบายไว้ว่า คนทำงานก็คล้ายงู ถ้าไม่ยอมปล่อยวางตัวตนที่เป็นอยู่ตอนนี้ ก็ไม่สามารถเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้ ถ้ายังไม่ทิ้งคราบเก่าที่หมายถึง วิธีคิด นิสัย และความสำเร็จเดิมๆ ย่อมยากที่จะเติบโตต่อไป ซึ่งความคิดของโยชิโนริยังสอดคล้องต่อแนวคิดของ เจมส์ อัลเลน นักเขียนชาวอังกฤษที่ได้เขียนหนังสือ ‘กฏแห่งเหตุและผล’ ซึ่งอธิบายต่อผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นไว้ว่า ‘ความคิดของพวกเราในอดีตจนถึงตอนนี้ คือ สาเหตุ ที่นำพาพวกเรามาสู่สภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน’

หากเปรียบชีวิตเป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ชีวิตของผมกับใครอีกหลายคนที่ประสบสภาวะเดียวกัน คงเริ่มเข้าสู่จุดสำคัญของเรื่องเข้าแล้ว ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ภาพยนตร์มีอารมณ์แห่งความสนุก น่าติดตาม และร่วมลุ้นไปกับตัวละครว่าจะสามารถคลี่คลายปัญหาได้หรือไม่

 เอาเข้าจริงผมเชื่อว่าเกือบทุกคนย่อมต้องเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างไปตามสถานการณ์ อาจรวมถึงการต้องละทิ้งบางสิ่งบางอย่าง เพื่อเปิดโอกาสต่อการริเริ่มสิ่งใหม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เราเปลี่ยนไม่ได้คืออายุที่เพิ่มขึ้น ความเสื่อมของร่ายกาย และเวลาที่ค่อยๆ หายไปในแต่ละวัน รวมทั้งบุคคลสำคัญในชีวิตของเรา

เหตุนี้ผมจึงไม่ปฏิเสธว่าวิกฤตวัยกลางคนจะไม่เกิดขึ้นในชีวิต หากแต่บางครั้งมันอาจมาเร็วกว่าคำนิยามจากในตำรา ถ้าเรามองโลกในแง่ดี วิกฤตเหล่านี้ได้สอนให้เราหัดลอกคราบ และหัดตักตะกอนทิ้งออกไปเสียบ้าง ก็ย่อมเป็นเรื่องที่เหมาะสมต่อจังหวะชีวิตที่ต้องออกเดินทางต่อไปกับเรือลำใหม่ที่เราหลายคนคาดหวังว่าจะนำพาเราไปสู่แผ่นดินในอุดมคติที่เราใฝ่ฝัน

ผืนแผ่นดินเหล่านั้นอาจเป็นฉากจบที่ไม่มีใครรู้ว่าจะดีหรือร้าย และก่อนหน้านั้นเราต้องหัดลอกคราบ เทตะกอน และเปลี่ยนเรืออีกกี่ลำ

ที่สำคัญชีวิตอาจไม่ได้เป็นภาพยนตร์ที่จบเพียงแค่เทคเดียว…

อ้างอิง: หนังสือ จงทิ้งงานไปครึ่งหนึ่งเมื่อถึงวัย40

อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4

SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19

APPLE : https://apple.co/2TXdzUr

SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC

YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT

PODBEAN : https://office04th.podbean.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *