การมองเห็นคุณภาพชีวิตของคนอื่นๆ โดยเกิดความรู้สึกเปรียบเทียบกับชีวิตตนเองนั้น เป็นเรื่องปกติทั่วไปที่หลายคนอาจเคยได้ยินจากศัพท์คำว่า Social Comparison ซึ่งกลไกการทำงานของความคิดนี้ ลีออน เฟสติงเกอร์ นักจิตวิทยา เคยได้นำงานวิจัยของเธอมาสรุปไว้ว่า การเกิดความคิดเช่นนี้มาจากการที่คนเราล้วนอยากรู้ว่าชีวิตของพวกเขาอยู่ในสถานะหรือระดับใด ฉะนั้น คนส่วนใหญ่จึงนิยมเปรียบเทียบชีวิตของตัวเองกับชีวิตของคนอื่นๆ นั่นเอง
เฟสติงเกอร์ บอกว่ายิ่งมาตรวัดเปรียบเทียบที่ชัดเจนแค่ไหน ก็ยิ่งอยากเปรียบเทียบ เช่น บ้าน รถ กระเป๋า เป็นต้น
ซึ่งเฟสติงเกอร์บอกว่าลักษณะการเปรียบเทียบนี้เรียกว่า การเปรียบเทียบทางสังคมจากล่างขึ้นบน ซึ่งถ้าหากมัวแต่หลงการเปรียบเทียบจนมากเกินไป สามารถส่งผลให้ชีวิตไม่มีความสุขจากการละเลย ความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตของตัวเองได้เหมือนกัน
แต่ในขณะเดียวกันการเปรียบเทียบกับผู้อื่นก็ยังมีมุมที่ดี นั่นคือการหัดกระตุ้นตัวเองให้มีความพยายามมากขึ้นต่อเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งจากประสบการณ์ของผมก็พบเจอคนทั้ง 2 ประเภทนะครับ คือ คนที่ไม่ชอบเปรียบเทียบกับคนอื่น คือขอมุ่งมั่นในการแข่งขันกับตัวเอง แค่นี้ก็พึงพอใจแล้ว กับอีกประเภทคือ เน้นแข่งขันกับคนอื่น เพราะรู้สึกว่าเป็นแรงขับเคลื่อนและมาตรวัดให้ตัวเองนั้นต้องพัฒนาตนอยู่เสมอนั่นเอง
ซึ่งพอเขียนไปก็ทำให้นึกถึงประเภทของคนแนว Perfectionist จากนักจิตวิทยาอย่าง พอล เฮวิตต์ และการ์ดอน เฟลตต์สองนักจิตวิทยาชาวแคนาดา ที่ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ผู้นิยมความสมบูรณ์แบบว่ามีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน
1. ผู้สมบูรณ์แบบที่กำหนดโดยตัวเอง (Self-oriented perfectionists) กลุ่มนี้จะเรียกร้องให้ตัวเองบรรลุถึงความสำเร็จ หลีกเลี่ยงความล้มเหลว และใช้มาตรวัดในการประเมินตัวเองอย่างเข้มงวด
2. ผู้สมบูรณ์แบบที่กำหนดโดยสังคม (Socially-prescribed perfectionists) กลุ่มนี้จะมีความเชื่อที่เข้มข้นว่าสังคมและคนรอบข้างคาดหวังและเรียกร้องให้พวกเขาบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบ
3. ผู้สมบูรณ์แบบต่อคนอื่นๆ (Other-oriented perfectionists) กลุ่มนี้มักจะคาดหวังว่าบุคคลสำคัญในชีวิตอย่างเช่น คนในครอบครัว คู่รัก ลูก เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ จะทำตามสิ่งที่ตนคาดหวังไว้อย่างสมบูรณ์แบบ
หากนำคนสมบูรณ์แบบ 3 ประเภทแล้วมองย้อนกลับไปตามกรอบของ เฟสติงเกอร์ จะพบความสอดคล้องบางอย่างเล็กน้อยว่า คนที่เป็นแนว Perfectionist แนวที่ 2 คือ การทำให้ตัวเองสมบูรณ์ผ่านการเรียกร้องของสังคม ไปในทางเดียวกับการเปรียบเทียบตัวเองกับสังคม เพื่อไดร์ฟให้ตัวเองต้องมีสถานะและระดับตามที่สังคมรอบข้างเคลื่อนไหวนั่นเอง
จะว่าไปสุดท้ายแล้วนั้น ไม่ได้มีแง่ใดผิด แง่ใดถูกนักหรอก แต่อาจจะขึ้นอยู่ว่าวิธีไหนเหมาะสมและถูกจริตกับชีวิตของใครมากกว่ากันก็เท่านั้น แต่หากเลือกทางใดทางหนึ่งไปแล้วเริ่มรู้สึกเกิดความทุกข์ทั้งกายและใจ นี่ก็อาจเป็นสัญญาณชี้วัดได้แล้วว่า การเปรียบเทียบเพื่อเป็นคนที่สมบูรณ์แบบในเชิงนี้คงไม่เหมาะกับเรา และอาจเป็นจุดเริ่มต้นอีกครั้งในการทำความรู้จักตัวเองใหม่อีกรอบ

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน