คนเก่งในนิยามของคุณคืออะไร
คำถามนี้ดูเหมือนเป็นคำถามพื้นๆ แต่คำตอบของ คุณพัชร สมะลาภา กองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ในสื่อออนไลน์ฉบับหนึ่งไว้ว่า
“ตอนนี้คนที่เก่งของผมคือ คนที่ตอนกลางคืนหยุดคิดได้ คนที่แยกได้ว่า 6 โมงเย็นแล้ว หยุดคิดเรื่องงานไปโฟกัสเรื่องครอบครัว คนที่ตื่น 6 โมงเช้ามาซ้อมวิ่งได้ทุกวันก็เก่ง ผมให้ความหมายเก่งไปอีกแบบ”
ตอนอ่านก็แปลกใจที่ได้เห็นความคิดความอ่านจากผู้บริหารระดับนี้ ซึ่งผมเชื่อว่าหากใครเป็นพนักงานระดับล่างแล้วมาอ่านข้อความนี้ของเขาก็น่าจะทำให้มีกำลังใจไม่น้อย และคำว่า “Work Life Balance” น่าจะเกิดขึ้นได้จริงๆ ในวงจรการทำงาน
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาคือ ‘ความรับผิดชอบ’ ที่ซ่อนอยู่ในข้อความนั้น ซึ่งเป็นต้นทุนในการขับเคลื่อนให้คนทำงานรู้จักบริหารและใช้สอยเวลาให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อที่จะได้นำเวลาส่วนอื่นๆ ที่นอกเหนือเวลางานไปใช้กับกิจกรรมหรือเสริมสร้างความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวได้
อีกคำให้สัมภาษณ์หนึ่งที่ผมชอบมากและรู้สึกเชื่อมโยงกับประสบการณ์ทำงานในอดีต นั่นคือการหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพให้ตัวเองอยู่เสมอ อย่าคิดว่าวันนี้ตัวเองเก่งแล้ว เพราะถ้าคิดว่าตัวเองเก่ง เกมแห่งการพิสูจน์ตัวเองกับการทำงานก็จบแล้ว เรียกได้ว่าหมดสนุกกันเลย
.
เขาจึงให้ความสำคัญกับชีวิตหลังเลิกงานมากๆ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น่าจะกลับมาเติมไฟในประสิทธิภาพการทำงานได้ ถึงขั้นเคยออกกฎว่า
“ถ้าหัวหน้าคนไหนปล่อยให้ลูกน้องทำงานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะถูกตัดคะแนน”
ความคิดของคุณพัชร ทำให้ผมรู้สึกสนุกและคิดถึงบรรยากาศสมัยเรียนอยู่พอสมควร ที่นอกเหนือจะต้องเรียนวิชาหลักเพื่อนำไปสอบแล้ว ยังต้องลงเรียนวิชาเลือกเสรีที่ให้เราลงเลือกเรียนตามใจชอบ ซึ่งวิชาเหล่านั้นก็ทำให้ผมได้มุมมองที่นอกเหนือจากการท่องตำราอื่นๆ เป็นอย่างมาก
ย้อนเวลากลับไปในช่วงมัธยมปีที่ 3 ผมเคยสมัครชมรมถ่ายภาพจนเริ่มรู้ศัพท์ของการถ่ายภาพบ้าง ในยุคนั้นไม่ได้ใช้กล้องดิจิทัลบางเบาแบบที่วัยรุ่นหลายคนยุคนี้นิยมใช้กัน หรือกล้องมืออาชีพแบบ DSLR นะ มันแพงมากๆ ผมได้แต่ขอยืมกล้องฟิลม์ป๊อกแบ๊กของแม่มาใช้ในการหัดถ่ายภาพจากโจทย์ของอาจารย์เพียงเท่านั้น
จากการเรียนถ่ายภาพ ทำให้ผมเข้าใจความหมายของคำว่า Focus ว่าความหมายของมันคือการให้ความสำคัญต่อสิ่งๆ นั้นสิ่งเดียวโดยไม่สามารถละเลยไปมองหาสิ่งอื่นได้
เอ่อ…อาจารย์บอกทำได้แต่ภาพที่ออกมาจะเบลอมากๆ เลย ถ้าไม่เชื่อให้เราลองใช้สายตาเพ่งไปยังวัตถุหนึ่งแล้วพยายามจะกวาดตามองหลายๆ วัตถุให้อยู่ในภาพเดียวสิ เบลอทั้งแถบ
.
หลักการทำงานกับภาพถ่ายก็เอามาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ นั่นคือการโฟกัสกับงานที่สำคัญ และเรียบเรียงความสำคัญว่าภายในเวลากว่า 8 ชั่วโมงที่เราต้องทำงาน เราควรโฟกัสอะไรก่อนหลังเพื่อให้ภาพที่จะออกมาดูสมบูรณ์ที่สุด
ซึ่งนั้นก็เป็นเพียงหนึ่งทฤษฎีที่หากใครตั้งใจและใส่ใจก็ทำได้ แต่ที่ได้ไม่เท่ากันคือประสบการณ์นอกเวลาที่บางครั้งผลลัพธ์ของการทำงานเราก็เฉือนกันตรงนี้
หลายปีก่อนผมเคยทำงานกับที่ปรึกษาคนหนึ่ง ซึ่งมีประสบการณ์ด้านพัฒนาบุคลากรมาพอสมควร สิ่งหนึ่งที่เขาพยายามสนับสนุนให้แก่คนที่ทำงานทุกๆ อาชีพคือการใช้ชีวิตหลังเลิกงานเหมือนที่คุณพัชรได้ให้สัมภาษณ์ไว้
เพราะที่ปรึกษาเชื่อว่าไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตหลังเลิกงานก็เป็นส่วนสำคัญในการต่อยอด และแก้ไขปัญหางานของเราได้ ไม่ว่าจะการดูหนังกลางสัปดาห์ ไปดื่มเพื่อผ่อนคลาย หรือนัดเพื่อนเล่นกีฬา
เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ชีวิตผ่อนคลายและเกิดการเชื่อมโยงระหว่างปัญหาที่เกิดขึ้นในที่ทำงานกับการแก้ไขจากคำตอบของบรรยากาศ และความคิดเห็นจากมิตรสหายที่สามารถนำมาประยุกต์ได้
สุดท้ายแล้ว นิยามความเก่งในแบบของคุณคืออะไร และการไปถึงความเก่งนั้นทำได้อย่างไร สามารถแชร์ไอเดียที่ทำให้เราไปถึงภาพที่ฝันได้ใกล้ไกลก็บอกกันมาได้นะครับ
.
หรือหากคิดไม่ออกก็ลองแชร์บทความนี้ไปหาหัวหน้าของคุณดู เผื่อหัวหน้าจะออกกฎการทำงานเหมือนที่คุณพัชรทำกับพนักงานในองค์กรครับ
ขอให้มีความสุขในการทำงานนะครับ
อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4
SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19
APPLE : https://apple.co/2TXdzUr
SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC
YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT
PODBEAN : https://office04th.podbean.com/

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน