3 วิธีเติมความมั่นใจให้มนุษย์เงินเดือนจากภาวะ Confidence Gap

5 November 2019

ทุกคนคงรู้ดีว่า ความมั่นใจคือสิ่งสำคัญต่อการนำเสนอตัวเอง แต่สำหรับใครหลายคนก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นโรคที่รักษาไม่หายสักที ไอ้โรคที่ว่ามันชื่อว่า Confidence Gap ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำงานอย่างมาก เอาเข้าจริงตัวผมเองก็เป็นคนไม่มั่นใจมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ตอนโตก็อาจจะกล้าแสดงออกหรือมีวิธีเทคนิคปกปิดมันได้บ้าง

แต่เชื่อไหมว่าบางครั้งมันก็โผล่เข้ามาในความรู้สึกของเราเป็นระยะๆ ทุกครั้งที่เราทำงานผิดพลาด ซึ่งผมเชื่อว่าหลายคนเป็นเหมือนกัน ทีนี้จะทำอย่างไรให้เจ้าโรคนี้มันบรรเทาไปได้บ้าง มีคำแนะนำมากจากบทความ Successful negotiation requires more than just confidence  เขียนโดย Sian Beilock ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา และยังเป็นนักเขียนรับเชิญให้แก่ Fast Company ด้วย โดยเธอได้แนะนำเทคนิค 3 ข้อง่ายๆ ที่จะช่วยให้การเจรจาในการทำงานดีขึ้นไปพร้อมกับการเรียกความมั่นใจกลับคืนมาครับ 

1. ไม่ต้องเข้ากรมก็ฝึกเรียกความมั่นใจได้

แม้เจ้ Sian Beilock จะไม่เคยไปจับใบดำใบแดงและไม่เคยต้องเข้าไปฝึกในกรมทหาร แต่ก็สามารถฝึกความมั่นใจในการเจรจา ด้วยการใช้จินตนาการว่าควรจะพูดอย่างไรกับคนตรงหน้า ซึ่งในความคิดของผมอาจจะต้องจำลองคนที่อยู่ตรงหน้าหลายๆ แบบ เช่น เพื่อนร่วมงาน รุ่นน้อง หัวหน้า ลูกค้า เขียนถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงศาสตร์เรื่องการสื่อสารกับคนของ เดล คาร์เนกี้ เหมือนกัน

พอจินตนาการเพื่อที่จะซักซ้อมแล้ว การมีเพื่อนที่เชี่ยวชาญเรื่องพวกนี้มาประกบเป็นโค้ชส่วนตัว ก็จะช่วยได้ในเชิงการให้ฟีดแบคและบอกเทคนิคต่างๆ ทั้งท่าทางและถ้อยคำที่ควรเลือกมาใช้ในการพูดนั่นเองจ้า

ถ้าเพื่อนไม่มี หรือนัดเพื่อนแล้ว เพื่อนไม่มา ก็อย่าเพิ่งเศร้าเสียใจ เพราะอย่างน้อยเรายังมีเรา

ถามว่ามีเราตรงไหน! มีสิก็ในกระจกไง! ใช่ครับ การซ้อมพูดกับตัวเองหน้ากระจกก็ถือเป็นอีกเทคนิคหนึ่งในการฝึกให้เราได้ยินเนื้อหาและได้เห็นท่าทางในการพูดของเราออกมา และเทคนิคนี้ต่อให้เพื่อนไม่ว่าง ไม่มาเจอ เราก็ยังฝึกได้ด้วยตัวเอง

2) ยอมรับและโอบกอดบาดแผลนั้นให้บรรเทา

ถ้าจะให้พูดกันตรงๆ แบบไม่อ้อมค้อมก่อนจะเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น มันก็ต้องจี้แผลให้ตรงจุดว่าตัวเรานั้นมันแย่ตรงจุดไหน เพื่อที่จะยอมรับและโอบกอดบาดแผลอย่างเต็มใจเพื่อเยียวยาอย่างเต็มที่ และนำบาดแผลเหล่านั้นมาเปลี่ยนให้เป็นพลังขับเคลื่อนด้วยการเรียนรู้จากมันให้เยอะที่สุดจากตัวเราด้วยการสังเกตว่าไอ้ความไม่มั่นใจมันมีอาการอย่างไร เช่น ถ้าเข้าประชุมทีไรหัวใจเต้นแรง เลือดสูบฉีด นี่มันกำลังส่งสัญญาณว่าเรากำลังไม่มั่นใจใช่ไหม

ถ้าเป็นแบบนั้นเราควรหาวิธีกำจัดหรือบรรเทาอาการแบบนี้ได้อย่างไร เช่น เตรียมข้อมูลให้มากเพื่อความอุ่นใจก่อนเข้าประชุม หรือการบอกกับตัวเองว่าให้มุ่งมั่นมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อลดความประหม่าที่ผ่านมา หรือการสังเกตการทำงานจากคนเก่งๆ ว่าเขามีวิธีนำเสนอและจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร ก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีเรียนรู้เพื่อเติมเต็มความไม่มั่นใจในตัวเราได้เช่นกัน และทั้งหมดนี่คือเหตุผลข้อมที่สองที่เราอยากมาบอกกัน

3) วิเคราะห์กับตัวเอง

โดยส่วนตัวชื่นชอบชื่อของข้อนี้ที่เป็นภาษาอังกฤษมากซึ่ง Sian Beilock เขียนไว้ว่า PREVENT ‘PARALYSIS BY ANALYSIS’ มันคล้องจองแบบโอเคเลย

การแนะนำข้อนี้มันจะคล้ายๆ กับข้อแรก แต่จะเน้นไปที่ประเด็นและเวลาในการหัดให้เราเจรจากับตัวเอง เช่น ลองนั่งแล้วเจรจาเรื่องเงินเดือนของตัวเองสัก 15 นาทีดู ว่าเราจะมีวิธีหรือมุมไหนบ้างที่อยากจะสื่อสารออกไป ซึ่งการจะเข้าไปเจรจาเรื่องสำคัญๆ แบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสมัครงาน เพิ่มเงินเดือน หรือเลื่อนตำแหน่ง

โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับข้อนี้มากว่า มันต้องมีการเตรียมตัวและคำตอบในใจก่อนเปิดประตูเข้าไปเจรจาแล้ว นอกนั้นก็จะเป็นองค์ประกอบศิลป์ที่จะหล่อหลอมให้ฝ่ายตรงข้ามเห็นด้วยกับสิ่งที่เราคิดไป ถึงแม้ว่ามันอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยสิ่งที่เราเตรียมไปก็น่าจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ตัวเราไม่มากก็น้อย เพื่อนๆ ว่าจริงไหมครับ

ถ้าใครที่อ่านแล้วอยากรู้จักแนวการรับมือกับความกดดันและอะไรต่อมิอะไรกับตัวเองมากขึ้น สามารถติดตามฟังเจ้ Sian Beilock ได้ทางเวที TED TALK ที่เจ้แกเคยไปพูดมาในหัวข้อ Why we choke under pressure – and how to avoid it. 

แม้แต่หนังสือเจ้แกก็มีซึ่งเป็นแนวจิตวิทยาทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็น How the body knows it’s mind หรือ choke : hat the Secrets of the Brain Reveal About Getting It Right When You Have To

แหม่เขียนเชียร์ซะเหมือนเป็นกิ๊ก แต่น่าสนใจดีครับ ถ้าใครสนใจก็แนะนำแล้วก็นำมาเล่าต่อกันด้วยเน้อ เพราะยังไม่ได้อ่านเหมือนกัน

อ้างอิง: บทความ: Successful negotiation requires more than just confidence

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *