“ถ้าคุณทำให้ทุกคนในองค์กรพายเรือไปในทิศทางเดียวกันได้ คุณจะก้าวขึ้นมาเป็นที่ 1 ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรม ตลาด การแข่งขัน หรือช่วงเวลาใดก็ตาม”
นี่คือคำพูดของ Patrick Lencioni ผู้ก่อตั้งบริษัท The Table Group ที่ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือด้านการบริหารและแก้ไขให้กับองค์กร ทีมงาน และบุคลากรในบริษัทชั้นนำต่างๆ ในมุมมองของผม คำบอกเล่าของ Patrick นั้นมาได้อย่างเหมาะสมเหลือเกินสำหรับคนที่เป็นผู้นำและกำลังนำทีมให้รอดพ้นจากวิกฤตที่ขึ้นชื่อว่าหนักหนาสาเหตุที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
นอกเหนือจากการเป็นผู้ก่อตั้งและประธานบริหารแล้ว Patrick Lencioni ยังมีบทบาทเป็นนักคิด นักเขียน อีกด้วย เขาเคยเขียนหนังสือสำหรับผู้นำอย่าง The Five Temptation of a CEO , The Advantage , The ideal team player , Death by Meeting: A Leadership Fable…About Solving the Most Painful Problem in Business Hardcover และอีกมากมาย
หากสังเกตให้ดี Patrick Lencioni ให้ความใส่ใจกับภาวะผู้นำ รวมถึงการบริหารและการแก้ไขปัญหาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการบริหารทีมให้มีประสิทธิภาพที่เป็นส่วนสำคัญต่อการทำงาน และแน่นอนว่าเขาได้รวบรวมประสบการณ์จากการเป็นที่ปรึกษาให้แก่ผู้นำในบริษัทชั้นนำมากมายมาถ่ายทอดไว้ในหนังสือ The Five Dysfunctions of a Team ที่ทุกคนสามารถนำไปตรวจสอบและปรับใช้ต่อตัวเองและทีมงานได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะกับดักการบริหารของคนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำซึ่งมีทั้งหมด 4 ข้อ
1. ขาดความเชื่อใจ
นี่คือจุดบอดแรกที่ Patrick Lencioni พบได้บ่อยครั้งในองค์กรต่างๆ และเขายังอธิบายอีกด้วยว่า แก่นแท้ของความเชื่อใจคือการทำความเข้าใจก่อนว่าทุกคนในทีมนั้นมีเจตนาที่ดีเป็นพื้นฐานในการทำงานร่วมกัน และขั้นสุดของความเชื่อใจในประสบการณ์ของเขา คือการที่ทุกคนในทีมสามารถเผยความอ่อนแอให้ทีมรับรู้ได้อย่างไม่มีข้อกังวล เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือและหาทางแก้ไขกันได้อย่างทันท่วงที หากไปในทางตรงกันข้าม ซึ่งมีการกักเก็บความกลัวและความกังวลเอาไว้ บรรยากาศ ปฏิสัมพันธ์ และขวัญกำลังใจของทีมจะลดลง ส่งผลให้เกิดการกลัวการประชุมและอัตราการลาออกจากพุ่งสูงขึ้นตามลำดับนั่นเอง
บทบาทผู้นำ: ยอมผิดพลาดให้ทีมเห็นบ้าง ด้วยการเผยความอ่อนแอบางอย่างมาด้วยความจริงใจ พร้อมกับสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองมากยิ่งขึ้น
2. กลัวความขัดแย้ง
การกลัวความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับคนทำงานทุกคน แต่ Patrick Lencioni ระบุว่าความขัดแย้งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ กับ ความขัดแย้งแบบทำลาย แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ออกมาย่อมให้ความแตกต่างกัน ซึ่งการนิ่งเงียบไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาถามความสงสัย หรือเกรงใจจนเกินเลยก็ส่งผลเสียต่องาน และทีมในระยะยาวได้เหมือนกัน วิธีการแก้ไขจากผู้นำคือ ต้องหัดหักห้ามใจไม่เข้าไปขัดจังหวะตอนที่ความขัดแย้งในการประชุมกำลังเกิดขึ้น และดูทิศทางของการแลกเปลี่ยนความคิดว่ายังอยู่ในกรอบเชิงสร้างสรรค์หรือไม่นั่นเอง
3. ไร้สำนึกรับผิดชอบ
สำหรับข้อนี้ Patrick Lencioni อธิบายว่าเกิดจากผลกระทบต่อมาจากข้ออื่นๆ ส่งผลให้ทีมไร้จิตสำนึกด้านการรับผิดชอบ ซึ่งอีกแง่มุมหนึ่งที่เราควรถอยออกมาคิดให้ดีก็คือ การคำนึงถึงผลกระทบต่อภาพรวมมากกว่า เพราะบางคนก็กังวลว่าการตักเตือนจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดี หรือจะเป็นการทำลายบรรยากาศและทำให้เกิดความอึดอัดจึงเลือกในการมองข้ามสิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องต่ออารมณ์ความรู้สึก รวมถึงผลลัพธ์ที่จะกระทบต่องานนั่นเอง
สำหรับข้อนี้นับว่าเป็นโจทย์หินสำหรับผู้นำทีมอยู่พอสมควร วิธีการแก้ไขคือการวางรากฐานการทำงาน รวมทั้งระบุหน้าที่และความรับผิดชอบให้ชัดเจน ที่สำคัญที่ Patrick Lencioni เตือนผู้นำไว้ก็คือ อย่าออกตัวไปช่วยเหลือทีมตลอด ไม่เช่นนั้นจะเกิดภาวะความเคยชินต่อการรอให้ผู้นำลงมาช่วยแก้ไขปัญหานั่นเอง
4. ไม่ใส่ใจผลลัพธ์
มาถึงข้อสุดท้ายคือการไม่ใส่ใจผลลัพธ์ ซึ่งเกิดมาจากการไม่มีความรับผิดชอบต่องานที่ทำ ทำให้เกิดการโฟกัสสิ่งอื่นมากกว่าผลลัพธ์ของทีมที่กำลังทำอยู่ แน่นอนว่าทีมที่ไม่ใส่ใตผลลัพธ์ทำให้ความก้าวหน้าถดถอย และยังอาจสูญเสียคนเก่งๆ ที่ให้ความสำคัญกับทีมมาก่อนก็ได้ เรียกว่าเสียทั้งผลงานและบุคลากรเก่งๆ ไปพร้อมๆ กัน
สำหรับวิธีการแก้ไขที่ Patrick Lencioni แนะนำคือ การหัดใช้กลยุทธ์การให้รางวัลเพื่อให้ทีมเห็นความสำคัญต่อกระบวนการทำงานและผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจและกำลังใจในเวลาเดียวกันด้วยนั่นเอง
นี่คือ 4 จุดบอดที่มักเกิดขึ้นกับทีมในองค์กรหลายๆ แห่ง และแน่นอนว่าผู้นำสามารถแก้ไขด้วยการบริหารจัดการทั้งเชิงเทคนิคและจิตวิทยาที่มีความจำเป็นต้องเข้าใจต่อเป้าหมายที่จะไป และพฤติกรรมของทีม ที่ต้องนำมาผสมผสานจนเกิดผลลัพธ์ที่ดีอย่างเหมาะสมที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คงเหมือนกับที่ Patrick Lencioni เปรียบไว้ตั้งแต่บรรทัดแรก
“ถ้าคุณทำให้ทุกคนในองค์กรพายเรือไปในทิศทางเดียวกันได้ คุณจะก้าวขึ้นมาเป็นที่ 1 ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรม ตลาด การแข่งขัน หรือช่วงเวลาใดก็ตาม”
อ้างอิง: หนังสือ THE FIVE DYSFUNCTIONS of a TEAM
อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4
SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19
APPLE : https://apple.co/2TXdzUr
SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC
YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT
PODBEAN : https://office04th.podbean.com/

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน