5 คุณสมบัติที่องค์กรต่างชาติมองหา

25 July 2021

สวัสดีชาวออฟฟิศ 0.4 ทุกคนครับ เดี๋ยวนี้โอกาสการย้ายงานไปทำงานที่ต่างประเทศนั้นเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับคนทำงานที่มากความสามารถ พร้อมกับโอกาสที่อยากทำงานกับองค์กรในฝัน ซึ่งหลายเดือนที่ผ่านมามีหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า No Rules Rules: Netflix and the Culture of Reinvention เขียนโดยผู้ก่อนตั้ง Netflix อย่าง รีด ฮาสติงส์ และเอริน เมเยอร์

ซึ่งเราไม่ได้จะมารีวิวหนังสือนะครับ แต่จะมาถอดบทเรียนจากการได้เข้าไปทำงานในองค์กรระดับโลกอย่าง Netflix ของ คุณแชมป์ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ซึ่งหลายคนรู้จักในฐานะบรรณาธิการคอนเทนต์ นักเขียน นักจัดรายการ ซึ่งตอนนี้เป็น Thailand Editorial Country Manager แห่ง Netflix ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยคุณแชมป์ได้มาแชร์ประสบการณ์ผ่านแคมเปญ Life Lecture ซึ่งจัดโดย TK Park และ The Cloud ในหัวข้อ เปิดโลกการทำงานกับองค์กรต่างชาติ จะมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้างไปอ่านบทสรุปกันครับ

คุณแชมป์บอกว่าเมื่อเจอสภาพแวดล้อมใหม่ๆ สภาวะ *Imposter Syndrome จะมาหาเรา เหมือนจะมีคนมาคอยกระซิบบอกเราตลอดว่า เราไม่เก่ง ไม่เจ๋งหรอก นี่คือประสบการณ์แรกๆ ของการทำงานต่างประเทศ ที่เราไม่มีใครคอยสนับสนุน และจำเป็นต้องหัดพึ่งตัวเองให้มาก ซึ่งคุณแชมป์แชร์วิธีแก้ไขไว้ 2 ข้อ

1. สงบศึกกับตัวเอง

ตอนเช้าพี่แชมป์จะตั้งคำถามว่า ทำไมเรามาถึงจุดนี้ เราต้องหาจุดแข็งว่าทำไมองค์กรเลือกเรา เมื่อหาเจอเราจะพอหาทางที่เป็นไปได้มากขึ้น

2. ทำให้ชีวิตเกิดความสงสัย

การมาทำงานที่ใหม่ๆ ทำให้เราต้อง Reinvent ตัวเองด้วยการถามให้มากๆ ถามตัวเองเยอะๆ ตรวจสอบตัวเองบ่อยๆ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เราไม่หลงทางกับความสงสัยทั้งในงานที่ทำและความสามารถของตัวเอง  

5 คุณสมบัติที่องค์กรต่างชาติมองหา (ในมุมมองของคุณแชมป์)

  1. Outspoken (การกล้าคิดกล้าพูด)

การทำงานในองค์กรต่างชาติมีมากกว่านั้นอีก ต้องคุยกันจนสิ้นความสงสัย เพื่อนร่วมงานต่างชาติจะไม่ทิ้งความสงสัยไว้บนโต๊ะทำงานจนกว่าจะเคลียร์และทุกคนเข้าใจพร้อมกัน ซึ่งถ้ามันทิ้งความสงสัยไว้ งานจะมีความเสียหายในช่วงท้ายได้ โดยเฉพาะองค์กรที่มีสเกลขนาดใหญ่ ตรงนี้สงสัยมาก

2. Lean into giving Context (ศึกษาบริทบาทที่แตกต่าง)

ข้อนี้จำเป็นต้องอธิบายให้เกิดประสบการณ์ร่วมกัน โดยเฉพาะการอธิบายความคิด ความเชื่อ ในบริบทที่แตกต่างกันให้เข้าใจร่วมกัน เช่น การอธิบายว่าทำไมคนไทยถึงคิดแบบนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีของการสื่อสาร ด้วยการถอยสักสองสามก้าวด้วยการอธิบายเหตุผลและที่มาเพื่อให้ทีมเข้าใจจริงๆ

3. Create Impact (สร้างผลกระทบ)

สิ่งหนึ่งที่องค์กรต่างชาติให้ความสำคัญคือ งานที่คุณสร้างต้องมีคุณค่าจริงๆ  สิ่งที่เกิดขึ้นคือการ Trim Fat คือการตัดพนักงานที่ทำงานเช้าชามเย็นชามออกไป เราต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเรากำลังมีคุณค่ากับองค์กรอย่างไร

4. Behave like an Adult (ทำตัวให้เป็นผู้ใหญ่)

ทำงานโดยไม่ต้องรอคำสั่ง เราควรมี Self – Initiation เราควรรู้สึกว่าเราเป็น Owner หรือเจ้าของโปรเจกต์ และสามารถคิดสิ่งอื่นๆ ได้อีกมากมาย

5. Holistic Thinking (คิดแบบองค์รวม)

หลายคนอาจจะคุ้นเคยวิธีคิดแบบ Silo Working หรือการทำงานแบบแยกส่วน เราควรถอยออกมามองว่า งานที่เราทำมันเชื่อมโยงกับจุดอื่นๆ ได้อย่างไร เชื่อมโยงกับคนดูและผู้บริโภคยังไง วิธีคิดแบบนี้จะทำให้เราพุ่งเป้าไปที่ Output หรือผลลัพธ์ได้ดียิ่งขึ้น  

3 ข้อสำคัญของการการคัดเลือก Resume และ CV  

คุณแชมป์เล่าว่า ข้อนี้มีขึ้นมาเพื่อกรองจำนวนใบสมัครงานจำนวนมากออกไปอย่างมีหลักการ  

1. Basic Communication

อันดับแรกเราจะตัดอีเมลใบสมัครของคนที่ไม่ได้เขียนแนะนำตัวเองมาเลย คือไม่ได้แนะนำชื่อและบอกเหตุผลว่าทำไมถึงมาสมัครตำแหน่งนี้ เหตุที่ตัดเพราะการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าผู้สมัครไม่สื่อสารข้อมูลเบื้องต้นมา ผู้สมัครอาจไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้นั่นเอง

2. Read

ถึงขั้นตอนที่ 2 หลังคัดเลือกใบสมัคร ก็จะถึงขั้นตอนการอ่าน การอ่านนั้นจะดูว่า ผู้สมัครคนนั้นมีวิธีการเล่าเรื่องอย่างไร ผู้สมัครมองตัวเองอย่างไร จุดแข็งเป็นอย่างไร จนบางทีต้องดูไปถึงเทมแพลตและการใช้ภาษาถูกต้องไหม เพราะการสื่อสารทุกวันนี้เต็มไปด้วยรายละเอียดมาก

3. Interview

เราจะดูประสบการณ์ที่ผ่านมาของผู้สมัครนั้นว่าเข้ากับงานและองค์กรได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งพี่แชมป์เรียกว่า Transferable Skillset คือการเปลี่ยนถ่ายทักษะจากงานเดิมมาสู่งานใหม่ได้ คือผู้สมัครสามารถหาเหตุผลที่มาบอกได้ว่าทำไมประสบการณ์เดิมของผู้สมัครถึงเหมาะกับงานใหม่ได้

ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ทำงานในองค์กรต่างชาติกับวิธีการคัดกรองคร่าวๆ ที่คุณแชมป์ ทีปกร นำมาฝากกกันสำหรับคนที่สนใจหรือกำลังหาทางสมัครงานไปทำงานในต่างประเทศ

ท้ายสุดแล้วคุณแชมป์ขอสรุปข้อคิดไว้ 2 ข้อ คือ

1. การทำงานในองค์กรต่างชาตินั้นท้าทายกับตัวเรามาก ต้องอาศัยการ Breakthrough วัฒนธรรมที่สั่งสมในการทำงานของเราในอดีตมาเหมือนกัน

2. เรื่องการคัดคน เราให้ความสำคัญกับ Culture Fit หรือการเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งสำคัญ เราดูเรื่องความสามารถการดูแลโปรเจกต์และการริเริ่ม รวมถึงความรับผิดชอบในการทำงานที่สูงนั่นเอง

หากใครอ่านแล้วชื่นชอบก็สามารถกดแชร์เนื้อหานี้เพื่อเป็นประโยชน์กับคนทำงานที่กำลังเตรียมพร้อมมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการทำงานได้นะครับ

*Imposter Syndrome : สภาวะที่เรารู้สึกว่าไม่เก่ง ไม่มั่นใจ

อ้างอิง: https://www.youtube.com/watch?v=Mw9Je90xTP4&ab_channel=TKParkchannel

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *