สวัสดีชาวออฟฟิศ 0.4 ทุกคนครับ
บังเอิญมีโอกาสไปอ่านบทความหนึ่งเกี่ยวกับการทำงานที่บ้านร่วมกับรูมเมท ซึ่งพบว่ามีหลายข้อที่น่าสนใจ และคิดว่าสำหรับใครหลายคนน่าจะกำลังเผชิญกับสถานการณ์ตรงนี้อยู่เลยนำทริค 8 วิธีนี้มาฝากคนทำงานทุกคนจ้า
1. ตกลงทำตัวกับรูมเมทให้เหมือนเป็นเพื่อนร่วมงาน
วิธีแรกคือการตกลงทำตัวกับรูมเมทให้เหมือนเป็นเพื่อนร่วมงาน คือ รับรู้ซึ่งกันและกันก่อนว่า การอยู่หอร่วมกันตอนนี้มันไม่ใช่เวลาปกตินะ แต่มันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น งานจากออฟฟิศก็ยังต้องทำเหมือนเดิม ควรมีการปรับตัวและไม่ก่อให้เกิดการรบกวนในสถานที่ที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกัน เช่น ถ้าจะฟังเพลงก็หาหูฟังมาใส่ซะ เพื่อไม่ให้เกิดบรรยากาศที่รบกวนสมาธิ ซึ่งคนเขียนแนะนำได้ตลกมากว่า บางทีการที่รูมเมทเราเปิดเพลงที่เราไม่ชอบ การแนะนำให้เพื่อนไปซื้อหูฟังในราคา ไม่กี่บาท ก็สามารถรักษาความสัมพันธ์ได้ดีกว่าปล่อยความเสี่ยงแบบนี้ให้เกิดขึ้นนะ (แสบจริงๆ)
2. มาตกลงเรื่องความสะอาดในห้องให้น่าอยู่
ข้อนี้สำคัญพอสมควรนะ เพราะเชื่อว่าหลายคนรู้อยู่แก่ใจว่า บรรยากาศส่งผลต่อสมาธิและสภาพจิตใจการนั่งทำงานมากแค่ไหน และถ้าสถานที่ทำงานอย่างที่ห้องของเราตอนนี้ไม่เอื้อละก็ เกิดความวุ่นวายอลม่านในการทำงานแน่ๆ การตกลงกับรูมเมทเรื่องการจัดระเบียบห้องและการทำความสะอาดจึงเป็นอีกสำคัญที่ควรสื่อสารกันตรงๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้
3. ในแต่ละวันเราทำอะไร รูมเมทควรรับรู้บ้าง
ข้อนื้สืบเนื่องมาจากข้อแรกเลยนะคือ การแชร์ตารางการทำงานให้รูมเมทรับรู้หน่อย ว่าแต่ละวันเราต้องเคลียร์งาน ส่งงาน หรือแม้กระทั่งต้องประชุมทางไกลกับใครบ้าง เพื่อที่เพื่อนจะได้รู้ว่า เฮ้ย…วันนี้ไม่สามารถแต่งตัวเสื้อกล้ามหน้าไม่แต่ง เพราะเดี๋ยวเผลอออกกล้องของบริษัทรูมเมท เดี๋ยวเพื่อนจะดูไม่ดีไปด้วย อันนี้เป็นสถานการณ์แบบไทยๆ ที่คิดแทนนะ เพราะหากใช้โปรแกรม ZOOM เดี๋ยวนี้เขามีการใช้สกรีนแบคกราวเอาไว้สำหรับคนห้องรกด้วย 55
4. แชร์ตารางการของร่างกายที่ไม่เหมือนกัน
การที่เราต้องทำงานที่ห้องร่วมกับรูมเมท สิ่งสำคัญเล็กๆ น้อยที่ข้ามไม่ได้คือ การใช้พื้นที่ร่วมอย่างห้องน้ำ ก็ควรมีการสื่อสารเหมือนกันนะ เพราะตอนนี้เราอยู่ร่วมกันตลอดทั้งวัน และระบบการขับถ่ายของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน การแจ้งให้รูมเมทรับรู้ไว้ก็ไม่เสียหาย (จากประสบการณ์อยู่หอมา อันนี้สำคัญนะสำหรับบางคู่ที่ไม่ได้สนิทกันมากนัก)
5. อย่าชวนคนอื่นมาที่ห้อง
ช่วงทำงานที่ห้องในสถานการณ์เช่นนี้ อย่าเพิ่งเชื้อเชิญคนอื่นๆ เข้ามาที่ห้องเลย ข้อนี้สำคัญเป็นอย่างมาก สำคัญอาจไม่พอต้องมีวินัยและซื่อสัตย์มากๆ ด้วย นั่นคือ ต่อให้วันหนึ่งรูมเมทเราไม่ได้อยู่ที่ห้อง เราก็ไม่ควรชวนเพื่อนคนอื่นๆ มาที่ห้องเด็ดขาด เพราะนั่นเท่ากับว่าเรากำลังเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อให้รูมเมทเราไปด้วยนั่นเอง
6. สื่อสารด้วยเครื่องมือที่ไม่รบกวน
แม้ว่าเราจะทำงานอยู่กับรูมเมทในห้องเดียวกัน แต่ในเวลางาน บางครั้งเราไม่แน่ใจว่า ตอนนั้นรูมเมทของเรากำลังยุ่งหรือมีกำลังโฟกัสกับงานที่ทำอยู่มากน้อยแค่ไหน การใช้พวก Direct Message ก็เป็นวิธีการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำได้ เช่น พิมพ์ไปว่า จะสั่งกาแฟไหม ถ้าว่างแล้วตอบกลับหน่อยนะ เป็นต้น
7. ออกแบบปฏิสัมพันธ์เล็กๆ เชิงสังคม
การทำงานอยู่ที่ห้องกับรูมเมทนั้น โอกาสการพูดคุยกันสำหรับบางคู่อาจมีไม่มากนัก ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัย หรือระดับความสนิทด้วย ดังนั้น วิธีการเพิ่มระดับการปฏิสัมพันธ์เชิงสังคมหน่อยก็คือ การนัดทำกิจกรรมร่วมกันเล็กๆ น้อยๆ เช่น กำหนดตารางหลังเวลาเลิกงานตอนเย็น ด้วยการช่วยกันทำอาหาร หรือ หาหนังมาดูด้วยกัน เป็นต้น อ่านแล้วโคตรโรแมน555
8.หัดหาพื้นที่อยู่คนเดียวเพื่อตัวเอง
ข้อนี้โดยส่วนตัวชอบนะครับ การหาเวลาอยู่กับตัวเองสัก 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมงเนี่ย สำหรับบางคนมันเป็นพื้นที่ที่เติมความรู้เพื่อสร้างโปรดักทีฟให้ตัวเอง เช่น การอ่านบทความ ฟังพอดแคสต์ ซึ่งจริงๆ พื้นที่เวลาเหล่านี้มันคือเวลาระหว่างทางที่หลายคนใช้ฆ่าเวลาในการเดินทางไปทำงานนั่นเอง ดังนั้น การเรียกจังหวะแบบเดิมกลับมาด้วยการออกแบบช่วงเวลาการอยู่คนเดียวก็เป็นการดีท็อกซ์ตัวเองได้เหมือนกัน ที่สำคัญแจ้งให้รูมเมทรู้ด้วยก็ดี
อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4
SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19
APPLE : https://apple.co/2TXdzUr
SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC
YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT
PODBEAN : https://office04th.podbean.com/

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน