รู้จัก Anxious Achiever สำเร็จได้เพราะความกังวล

1 August 2023

ถ้าเรารู้สึกว่า มีเสียงที่ค่อยย้ำกับเราเรื่องการทำงานอยู่เสมอ ว่าต้องไปต่อ อย่าไปยอมแพ้ สู้ต่อไป เราอาจกำลังเข้าข่ายคนทำงานที่ถูกเรียกว่า “Anxious Achiever” อยู่ก็ได้

จริง ๆ แล้วคำนี้ถือเป็นคำใหม่ เพราะเพิ่งเคยได้ยิน ถ้าแปลเป็นไทยก็แนว ๆ คนที่ใช้ความกดดัน ความตึงเครียด เป็นแรงผลักดันให้ไปถึงเป้าหมายนั้นแหละ

แต่คนทำงานประเภทนี้มักจะต้องต่อสู้กับจิตใจ (Mentality) ของตัวเองเอามาก ๆ เลย
ซึ่งถ้าจัดการได้ไม่ดีพอ ก็มีสิทธิ์ที่จะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งเกิดขึ้นเยอะมากในเวลานี้

เรื่องของ Anxious Achiever ถูกเขียนเป็นหนังสือแล้ว โดย Morra Aarons Mele ซึ่งเป็นคนที่มีประวัติที่น่าสนใจ เพราะอยู่เบื้องหลังการทำงานของนักการเมืองชื่อดังในสหรัฐฯ หลายคนในช่วงหาเสียง

Morra อธิบายเกี่ยวกับ Anxious Achiever ไว้ว่า มันเป็นเรื่องปรกติที่จะเกิดขึ้นกับบรรดาผู้นำ ที่ต้องแบกรับความกดดัน จากความคาดหวัง และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ เราสามารถดีลกับภาวะนี้ได้มากหรือน้อยกว่ากัน

Morra อธิบายต่อว่า องค์กรประกอบของ Anxious Achiever นั้นมี 3 ส่วนด้วยกัน คือ

1. แรงขับ (The Drive)
2.เสียงภายใน (The Voice)
3. กับดัก (The Traps)

ถามว่าทำไมต้องมี 3 ส่วนนี้ Morra อธิบายว่า คนที่เป็นผู้นำ หรือ ผู้ที่อยากประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมี เป้าหมาย พ่วงมาด้วยความทะเยอทะยาน อยู่แล้ว ซึ่งคือข้อที่ 1

ส่วนข้อที่ 2 คือ เสียงภายในของจิตใจและความคิดที่คนประเภทนี้ มักคุยกับตัวเองอยู่เสมอว่า ตัวเรานั้นดีพอแล้วหรือยัง แต่โดยมากมักบอกว่า ตัวฉันยังไม่ดีพอเสมอ ทำให้ต้องหาทางพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไปพร้อมกับภาวะที่กดดันตัวเอง

ส่วนข้อสุดท้าย การกดดันตัวเองมากเกินไป จะทำให้ตัวเองนั้นติดกับดักของตัวเอง ที่คอยมองด้านเสียซะส่วนใหญ่ ทำนองว่าถ้าเราทำได้ดีกว่านี้ ผลลัพธ์จะดีกว่านี้ ซึ่งถ้ามีมากเกินไป ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจเราพอสมควร

วิธีแก้ไขที่ Morra แนะนำคือการหัดสังเกตตัวเอง เพื่อให้เกิดการรู้เท่าทันทางความคิดตัวเอง ว่าตอนนี้เรากำลังคิดอะไรอยู่ ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสติและสมาธิอยู่พอสมควร

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่รู้ทันความคิดของตัวเอง โอกาสที่จะระเบิดออกมา จากความกดดันก็มากขึ้น ซึ่งเป็นเกี่ยวข้องกับการบริหารอารมณ์ที่คนเป็นผู้นำจำเป็นต้องมีเป็นอย่างมาก เพื่อกำหนด และควบคุม เพื่อให้เป้าหมายที่วางไว้ยังดำเนินต่อไปได้นั่นเอง โดยเฉพาะคนทำงานประเภท Perfectionist

อ่านมาถึงตรงนี้…คุณเป็นคนประเภท Anxious Achiever แบบที่ว่าไว้บ้างหรือเปล่า?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *