WORK LIFE BALANCE อาจเป็นนิยามที่หายไปจากโลกการทำงาน
ระยะหลังผมได้ยินเสียงคนทำงานทั้งใกล้ตัวและไกลตัว พูดถึงการทำงานบ่อยขึ้นในทำนองที่ว่า งานไม่เคยลดลงเลย จัดการไปเท่าไหร่ก็ยังไม่หมดเสียที ซึ่งหากมองโลกในแง่ดีการมีงานเยอะๆ ในช่วงเวลาที่สุ่มเสี่ยงแบบนี้ ก็ย่อมดีกว่าไม่เหลืออะไรให้ทำเลย แต่นั่นอาจจะเป็นในเชิงของการทำงานต่อการสร้างรายได้ แต่ในมุมของการผ่อนคลายในชีวิต นี่อาจเป็นยุคที่เราไม่สามารถแยกงานออกจากชีวิตได้อย่างชัดเจนอีกต่อไป
Work Life Balance คำสามคำที่ถูกแยกเอาไว้ให้เกิดขอบเขตการทำงาน และการใช้ชีวิตอย่างมีขอบเขตชัดเจน ซึ่งแต่ก่อนสะท้อนมากจากการแบ่งจำนวนช่วงโมงต่อวันด้วยสัดส่วน 8 : 8 : 8 คือ ทำงาน 8 ชีวิต 8 นอน 8 หลายคนอ่านถึงตรงนี้แล้วคงหัวเราะฮึๆ ว่านั่นมันทฤษฎี ลองตัดภาพมาที่ชีวิตจริงสิไม่เป็นเช่นนั้นหรอก ซึ่งก็มีแนวโน้มเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

หากนับตั้งแต่โลกกำเนิด Facebook และ Line เราก็แทบจะสื่อสารเพื่อการทำงานกันเกือบ 24 ชั่วโมง นี่ยังไม่ หรือต่อให้ไม่ได้เกิดแอคชั่นการทำงานด้วยการลงมือทำ แต่พอเห็นเมจเสจเกี่ยวกับงานเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า วินาทีนั้นความคิดของเราก็ถูกสวิตซ์ให้คิดงานโดยทันที เราจึงรู้สึกได้ว่างานไม่ลดลงซะที
เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นลูปเช่นนี้ พร้อมกับปัญหาต่างๆ ที่ตามมาเสมือนเป็นแพคเกจพิเศษที่ต้องเจอเสมอในการทำงาน ภาวะ Burnout (หมดไฟ) หรือ ภาวะ Boredom (เบื่อหน่าย) ก็เริ่มค่อยๆ ก่อตัวใหญ่ขึ้นจนกัดกินความคิด ความรู้สึก และพื้นที่ในชีวิต กว่าจะรู้ตัวอีกที ชีวิตเราก็ถูกการงานที่น่าชิงชังยึดทุกวินาทีของทุกวันไปเสียแล้ว แล้วเวลาส่วนตัวของเราจะอยู่ตรงไหน

Elizabeth Grace Saunders คอลัมนิสต์แห่ง Fast Company ขยายต่อภาวะที่เกิดขึ้นกับคนทำงานที่ชีวิตกระดิกไปไหนไม่ค่อยได้ จนมีชีวิตอยู่เพียง ทำงาน กิน นอน แบบนี้ไปเรื่อยๆ จนหลายคนเริ่มโหยหาว่าแล้วเวลาของฉันอยู่ที่ไหน หรือที่ Elizabeth นิยามเวลาเหล่านี้ว่า ‘Me Time’ เวลาของตัวเองที่เราก็อยากให้เวลากับชีวิตของเราบ้าง ซึ่งเธอก็มีแนวทางในการปรับและแก้ไข 3 วิธี คือ กำหนดช่วงเวลาอิสระของตัวเองที่ชัดเจน การหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพ และสุดท้ายเป้าหมายในชีวิตของเรา
ในความคิดของผม แนวคิดของ Elizabeth ก็ยังเป็นทฤษฎีที่ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่จนจะเข้ามาช่วยคนทำงานอย่างเราๆ ให้หนีออกจากกรอบกงกรรมกงเกวียนและทำให้เกิด Me Time ได้อย่างแท้จริงสักเท่าไหร่ ในขณะเดียวกันบริบทแบบ Me Time ก็เกิดขึ้นในประเทศจีน ด้วยการนอนดึกเพื่อจะได้มีเวลาให้แก่ตัวเอง โดยมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Revenge Bedtime Procrastination หรือ การนอนดึกเพื่อการล้างแค้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สะท้อนต่อเวลาของชีวิตและการทำงานได้อย่างน่าคิดต่อเป็นอย่างดี
ทางออกที่เหมาะสมที่สุดของเรื่องทั้งหมดนี้ควรออกที่ทางไหน ในความคิดเห็นส่วนตัวของผมมีอยู่ 2 ทางคือ
1. หากอยากอยู่กับงานที่ทำอยู่พร้อมกับรายได้ที่พึงพอใจ แม้ว่างานจะเยอะและวุ่นวายขนาดไหนก็ต้องทำ เราอาจต้องโยพจนานุกรมของ Work Life Balance ทิ้งไปและศึกษาพจนานุกรมเล่มใหม่ที่เรียกว่า Work Life Integration หรือ Work Life Blend ขึ้นมาแทน หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นวันอะไร เราก็สามารถนำช่วงเวลาเหล่านั้นมาคิดและทำงานได้อย่างไม่มีความรู้สึกติดขัดหรือมองว่างานคือปัญหาในวันหยุดแต่อย่างใด แต่หากมองว่าข้อนี้เป็นปัญหาต่อชีวิต ก็ให้มาที่ข้อที่ 2 ครับ
2. ทบทวนพิจารณาแล้วว่า งานที่เรากำลังทำอยู่นั้นไม่เหมาะแก่ตัวเรา และตัวเราก็ไม่เหมาะแก่งานนั้น คำถามนี้ผมไม่ได้นึกขึ้นมาเอง แต่เกิดจากประสบการณ์ร่วมของงานทอลก์งานหนึ่งที่ได้เชิญผู้บริหารระดับสูง ซึ่งยังอยู่ในช่วงวัยที่ไฟแรง ซึ่งระหว่างการบรรยายในชีวิตของเขาก็มีแต่กระบวนการทำงาน จนมีน้องคนหนึ่งได้ยกมือถามว่าชีวิตมี Work Life Balance บ้างไหม
ผู้บริหารคนนี้ก็ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า บางอาชีพไม่ได้ต้องการ Work Life Balance แต่ถ้าเราเริ่มมีคำถามลักษณะนี้ เราอาจลองหางานที่มี Work Life Balance เหมาะกับความต้องการของเราจะดีกว่า แม้จะเป็นถ้อยคำที่ตรงไปตรงมา แต่ผมก็เห็นด้วยนะครับว่า นี่คือทางออกที่ชัดเจนกับความต้องการของคนทำงานที่ต้องการความสมดุลของชีวิตจริงๆ

สุดท้าย ไม่ว่าคุณจะเลือกช้อยส์ไหน เราก็ต้องทำงานอยู่ดี แต่เราสามารถเลือกได้ว่า เราอยากมีชีวิตที่มีความพึงพอใจกับงานควบคู่กันไปแบบไหนก็อยู่ที่เราต้องชั่งน้ำหนักแล้วละครับ ว่าจะปรับเพื่อให้ชีวิตไหลลื่นไปกับงาน หรือจะแยกทางเพื่อหาความชัดเจนในกรอบการทำงาน และกรอบของชีวิต ด้วยทวงคืน Me Time ของตัวเองกลับมาไปพร้อมกับเงื่อนไขที่ยอมรับได้
นี่จึงเป็นโจทย์ด้านเวลาของชีวิตและการทำงานที่ยากเย็นไม่ใช่น้อย
อ้างอิง:
How to carve out ‘me time’ when work never seems to end
Link: https://www.fastcompany.com/90572158/how-to-carve-out-me-time-when-work-never-seems-to-end
อย่านอนดึกเพื่อล้างแค้น
Link: : https://adaybulletin.com/know-midlife-story-revenge-bedtime-procrastination/52531

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน