Servant Leadership ภาวะผู้นำที่คอยสนับสนุนลูกน้อง

30 June 2020

ความกล้าหาญชาญชัยอย่างหนึ่งในวงประชุมที่เต็มไปด้วยผู้ใหญ่หลายระดับ ไล่ตั้งแต่ ซีเนียร์ เมเนเจอร์ และไดเรกเตอร์ คือการแสดงความคิดเห็นในมุมที่แตกต่างและขัดแย้งต่อความคิดของพวกเขา ทว่าความเป็นจริง สิ่งที่เราไม่เห็นด้วยกลับถูกซ่อนอยู่ในลำคอและสายตาที่แสดงต่อความขัดแย้งในตัวเอง

เหตุการณ์ดังกล่าว ผมเชื่อว่ามีคนทำงานหลายคนกำลังประสบปัญหาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลในแง่ของการขาดความเชื่อมั่น การไม่มีจังหวะแทรก การไม่อยากทำร้ายจิตใจและมิตรภาพที่อยู่นอกวงประชุมก็ตาม ซึ่งผมเองก็เคยตกเป็นทาสของภาวะเช่นนั้น

ที่ปรึกษาของผมชี้แนะเสมอว่า การแสดงความคิดเห็นอย่างโปร่งใสควรใช้ความคิดยึดตัวงานเป็นที่ตั้งมากกว่าการเล็งไปที่ผู้ร่วมประชุมและไม่ควรใส่อคติเข้าไปในการแสดงความคิดเห็น

การแสดงความคิดเห็นจึงเป็นเรื่องที่เหมือนจะง่ายและยากในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้ผมนึกย้อนกลับไปสมัยเรียนตอนเด็กๆ และพบสาเหตุเล็กๆ น้อยๆ ที่หลายคนอาจเคยมีประสบการณ์ร่วมเหมือนผม

สมัยผมเรียนช่วงประถมศึกษา ยังคงเป็นยุคที่ไม้เรียวเฟื่องฟูและระบบการสั่งจากคุณครูเป็นใหญ่ ก่อนที่จะเริ่มมีนโยบายยกเลิกการใช้ไม้เรียวและเน้นระบบ Child Center ขึ้นมาในภายหลัง

ระบบการเรียนสมัยนั้นมีความชัดเจนของการผูกขาดอำนาจอยู่ที่หัวหน้าห้อง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดต่อเพื่อนนักเรียนด้วยกันเองและยังเป็นผู้มีอำนาจเจรจากับคุณครูในแต่ละวิชาด้วย

อย่างไรก็ตาม อำนาจเบ็ดเสร็จที่แท้จริงก็เป็นคุณครูเจ้าของวิชาในแต่ละคาบเรียนอยู่ดี

ความคลาสิคของการใช้อำนาจ เพื่อควบคุมไม่ให้นักเรียนในห้องส่งเสียงดังหรือวิ่งเล่นตามวัยที่มีลิงหลายสายพันธุ์สิงร่างอยู่ นั่นคือการมอบอำนาจให้หัวหน้าห้องแอบจดชื่อเพื่อนร่วมห้องที่คุย หัวเราะ วิ่งเล่น และอีกหลายอิริยาบทที่ซุกซน เรียกได้ว่า นักเรียนที่อยู่ในห้องต้องเป็นหุ่นขี้ผึ้งเท่านั้นถึงจะรอดจากการโดนจดชื่อจากหัวหน้าห้อง

ด้วยเหตุนี้เอง ‘หัวหน้าห้อง’ จึงเป็นตำแหน่งที่ถูกเพื่อนร่วมชั้นไม่ค่อยชอบไปโดยปริยาย

ผมเรียนรู้จากเหตุการณ์เหล่านี้มาหลายครั้ง จนมีสัญชาตญาณอย่างฉับไว หากคุณครูเดินออกไปจากห้องระหว่างการเรียนการสอนหรือยังไม่เข้าห้องเรียนตามเวลาที่กำหนดจนผิดปกติ ผนวกกับหัวหน้าห้องถือดินสอและเปิดสมุดค้างไว้ นั่นคือสัญญาณอันตรายต่อพวกเราที่กำลังจะถูกจดชื่อ!

กระทั่งเกิดวิวัฒนาการการจดชื่ออย่างโปร่งใส เมื่อหัวหน้าห้องย้ายร่างของตัวเองจากโต๊ะเรียนสู่หน้ากระดานดำพร้อมชอล์คสีขาวหนึ่งแท่งอยู่ในมือ เมื่อย้อนคิดกลับไปถึง ณ ตอนนั้น ผมกับเพื่อนหลายคนเหมือนอยู่ในระบบคอมมิวนิสต์อยู่ลึกๆ

บทลงโทษจาดความซุกซนฉบับประถมศึกษา เริ่มต้นด้วยการต่อแถวเพื่อรับโทษประหารด้วยท่าไม้ตายการตีสไตล์ Less is More ของคุณครู นั่นคือ ให้นักเรียนทำนิ้วหุบเข้าหากันคล้ายดอกบัวตูม จากนั้นคุณครูจะใช้เครื่องทุ่นแรงที่ได้รับความนิยม เช่น ไม้บรรทัดยาว 30 เซนติเมตร หรือแปรงลบกระดาน เป็นต้น

แม้คุณครูจะออกแรงไม่เยอะ แต่ความเจ็บปวดบริเวณปลายนิ้ว ทั้งห้า จัดว่าอยู่ในระดับความเจ็บปวด 5 ดาว เลยทีเดียว ส่งผลให้ระยะหลังที่ถูกลงโทษ คุณครูบางวิชาจะเห็นใจและมักจะให้เลือกว่าจะยอมโดนตีก้นหรือเคาะนิ้ว

ทางเลือกที่เกิดขึ้นจึงเป็นความเจ็บปวดแบบประชาธิปไตยที่ยอมรับได้ แม้นั่นคือความเจ็บปวดเพียงชั่วคราวที่ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็จางหาย แต่ความรู้สึกเจ็บปวดที่แท้จริงกลับถูกสั่งสมและซ่อนอยู่ภายในจิตใจเบื้องลึกของเราและส่งผลให้เราเป็นคนทำงานธรรมดาคนหนึ่งที่นั่งอยู่ในห้องประชุมอย่างไม่มีปากมีเสียงหรือแม้กระทั่งเสียงหัวเราะร่วมต่อบรรยากาศในวงประชุม

ดร. ทาล เบน – ชาฮาร์ อาจารย์จากมหาวิทยลัยฮาร์วาร์ด ได้เขียนถึงแง่มุมของการแสดงอารมณ์ได้อย่างน่าสนใจว่า

‘มีอยู่หลายครั้งที่ความจริงจังและความเคร่งครึมเป็นการตอบสนองอย่างเหมาะสม แต่บ่อยครั้งที่เราทำตัวและใช้ชีวิตที่จริงจังเกินไป จนพลาดความตลกขบขันและความสนุกสนาน ซึ่งการนำเสียงหัวเราะและความสนุกสนานที่เราอาจทำหล่นหายหลังพ้นวัยเด็กกลับคืนมาจะช่วยให้ชีวิตเพลิดเพลินขึ้น ส่งผลดีต่อสุขภาพกายใจ และยังทำให้เราเป็นคนที่น่าอยู่ใกล้ขึ้นด้วย’

แม้ข้อคิดของ ดร. ทาล เบน – ชาฮาร์ อ่านแล้วชวนนึกถึงการประชุมที่เราจะเจอผู้คนทรงอุดมคติตามที่กล่าวไว้ แต่มันคงเป็นเรื่องยากพอสมควรที่จะเกิดความสนุกสนานและเสียงหัวเราะในห้องประชุม

เพราะการเติบโตของคนทำงานนั้นแตกต่างกัน บางคนเป็นคนจริงจังกับงานมากถึงมากที่สุด บางคนพยายามทำตัวเป็นคนกลาง คอยขับเคลื่อนประเด็นและบรรยากาศให้จบลงตามวาระที่ตั้งไว้ บางคนไม่ได้สนใจต่อเนื้อหาและความสำคัญต่อการประชุม ได้แต่มองนาฬิกาและทำหน้าเหม่อลอยไปให้จบประชุมเท่านั้น

บุคลิกทั้งหมดที่กล่าวมานั้นขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกเป็นแบบไหน ทั้งหมดอยู่ที่ตัวเรานั้นแหละ บางครั้งการมีตำแหน่งที่เล็กกว่าผู้ใหญ่คนอื่นๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็น ‘ผู้ตาม’ มากกว่า ‘ผู้นำ’ ในการประชุม

ปี 1970 โรเบิร์ต กรีนลีฟ ได้บัญญัติคำว่า ‘ผู้นำแบบผู้รับใช้’ (Servant Leadership) หลังเขาจับข้อสังเกตจากบรรดาผู้นำในประวัติศาสตร์โลกที่พูดและทำตัวเหมือนผู้รับใช้ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางการเมืองอย่าง มหาตมะ คานธี มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เนลสัน เมลเดลลา ที่เคยกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของท่าน’

ส่วนผู้นำทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่อย่าง จิม เบิร์ก แห่งจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และอนิตา ร็อดดิก แห่งเดอะบอดี้ชอป พวกเขาเชื่อว่าหน้าที่หลักของผู้บริหารคือการดูแลและใส่ใจความต้องการของพนักงานและลูกค้า

โรเบิร์ต กรีนลิฟ อธิบายถึงภาวะผู้นำว่า ‘หนึ่งในลักษณะเฉพาะของผู้นำแบบผู้รับใช้ คือ พวกเขาจะฟังก่อนแล้วค่อยพูดทีหลัง และการจะเป็นผู้นำลักษณะนี้ต้องผ่านการฝึกฝนการเรียนรู้ที่จะรับฟัง และพึงระลึกอยู่เสมอว่า การตอบสนองโดยอัตโนมัติต่อปัญหาใดๆ ต้องรับฟังก่อนเป็นลำดับแรก’

ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วคำว่า ‘ผู้นำ’ ในการประชุม ผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านอาจจะยังไม่เข้าใจความหมายและหน้าที่ของมันอย่างแท้จริงก็ได้ หรือแม้กระทั่งหัวหน้าห้องที่เอาแต่จดชื่อโดยไม่เคยได้เอยถามถึงเหตุและผลต่อการคุยกันของเพื่อนในห้องเลยสักครั้ง

การแสดงความคิดเห็นในห้องประชุมและการแสดงภาวะผู้นำ จึงไม่จำเป็นต้องอยู่ในตัวของผู้หลักผู้ใหญ่อย่างเดียว ซึ่งหลายครั้งเราก็เห็นอยู่ว่าผู้ใหญ่บางท่านขาดคุณสมบัติเหล่านี้เสมอเมื่ออยู่ในวงประชุม

ดังนั้น จงใช้ความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นอย่าโปร่งใสและเปิดใจรับฟังจากเหตุผลของเพื่อนร่วมงานทุกคน เพราะเราคงหนีไม่พ้นที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า

แต่สิ่งที่เราเลือกที่จะหนีและเลือกเป็นได้ คือ การเป็นคนทำงานที่มีรอยยิ้ม สร้างเสียงหัวเราะ กล้าแสดงความคิดเห็น และรับฟังเหตุผลจากทุกคน

นี่อาจเป็นสิ่งที่น้องๆ และเพื่อนร่วมงาน และตัวเราเองเฝ้ารอพบผู้ใหญ่ลักษณะนี้มาตลอดในชีวิตการทำงาน


หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก

อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4

SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19
APPLE : https://apple.co/2TXdzUr
SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC
YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT
PODBEAN : https://office04th.podbean.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *